เตรียมรับมือกับค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอม

เตรียมรับมือกับค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอม

เตรียมรับมือกับค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอม

          ด้วยค่าครองชีพที่แพงขึ้นทุก ๆ ปี ค่าเทอมก็แพงขึ้นตาม พ่อแม่ผู้ปกครองก็จะต้องจัดเตรียมเงินทองเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจับจ่ายสิ่งของต่าง ๆ ให้ลูกต้อนรับเปิดเทอม ยิ่งถ้าบ้านไหนมีลูกหลายคน ถ้าไม่จัดสรรหรือวางแผนการเงินให้ดี  คงมีเรื่องให้คิดจนปวดหัวกันนักแล วันนี้เราจะคุยกันว่าจะทำอย่างไรที่จะช่วยลดหย่อนภาระค่าใช้จ่ายของคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านได้บ้าง

 

 วิธีประหยัดเงินในส่วนเครื่องเขียนเครื่องใช้

          เครื่องเขียนเครื่องใช้ของคุณหนู ๆ ทั้งสมุด ปากกา กระเป๋า กล่องดินสอ ฯลฯ ดูเป็นของเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ถ้าซื้อใหม่ยกชุดทุกๆเทอม ก็รวมมูลค่าได้ไม่น้อยเลยนะคะ ลองมาหาวิธีประหยัดดูกันเถอะ

           พยายามใช้ของที่มีอยู่ให้คุ้ม แทนที่จะซื้อใหม่ยกชุด ลองกลับไปรื้อหาดินสอสี ดินสอ กบเหลา ปากกา แฟ้มใส่กระดาษ ฯลฯ ที่กระจัดกระจายเกือบจะหายไปตั้งแต่ปิดเทอมครั้งที่แล้วมาใช้ใหม่ หากได้ลองหาและรวบรวมดู ส่วนใหญ่จะพบว่ายังอยู่ครบ และแทบไม่ต้องซื้ออะไรเลยด้วยช้ำของที่ซื้อมาแล้วใช้ได้เหมือนๆกัน โดยที่คุณภาพไม่ได้ต่างกันมากมาย อย่างเช่น ยางลบ ไม้บรรทัด กล่องดินสอ ฯลฯ ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนแพงเพื่อให้ได้ของที่ต่างกันไม่มาก แต่ถ้าเป็นของที่มีแนวโน้มว่าจะต้องใช้ไปอีกนาน อย่างเช่น กระเป๋าเป้ของเด็ก ๆ ลงทุนซื้อของดีแต่แพงหน่อยเพียงสักครั้ง ลูกจะยังใช้ไปได้อีกหลายปี ดีกว่าซื้อของถูก ๆ แต่ใช้ไม่ถึงปีก็พัง สู้เราชื้อของแพงแต่ทนทาน ใช้งานคุ้ม จะดีกว่าค่ะ

 

 วิธีประหยัดกับเรื่องเสื้อผ้า

          เด็กวัยเข้าโรงเรียนเป็นวัยกำลังโต ตัวก็กำลังยืด เสื้อผ้าที่เคยใส่ได้อาจคับแน่นได้เสมอเมื่อเปิดเทอมใหม่ แต่ก็ใช่ว่าจะต้องซื้อใหม่ยกชุดทุกครั้งไป มาหาวิธีประหยัดกันเถอะ

           ทำเช็กลิสต์ให้รู้ว่าอะไรยังใช้ได้อะไรต้องซื้อใหม่ เสื้อผ้า รองเท้า ของเด็กๆ เป็นสิ่งที่ดูดเงินคุณพ่อคุณแม่ไปได้หลายพัน อย่ารีบพุ่งตัวไปที่ร้านโดยที่คุณยังไม่รู้ว่าจำเป็นต้องซื้ออะไรให้ลูกบ้าง สถานการณ์แบบนี้มักทำให้คุณกวาดซื้อของทุกอย่างที่คิดว่าจำเป็นไว้ก่อน ทั้งที่จริงของที่มีอยู่เดิมก็ยังใช้ได้ เพราะฉะนั้นก่อนจะพุ่งตัวออกไป ลองสำรวจไซส์รองเท้ากับขนาดเท้าของลูกในตอนนี้ว่ายังใส่ได้อยู่ไหม เสื้อผ้าใส่ไซส์เดิมหรือเปล่า ตัวเก่ายังใส่ได้อยู่ไหม ถ้าไม่ได้แล้วต้องซื้อใหม่กี่ตัว แล้วจดไว้ว่าของที่ "จำเป็น" ต้องซื้อจริงๆ นั้นมีอะไรบ้าง จะช่วยให้คุณควบคุมเงินที่จะจ่ายในส่วนนี้ได้ดีขึ้นเยอะเลยค่ะ

           อย่ารังเกียจที่จะรับมรดกตกทอดจากคนอื่น เสื้อ กางเกง กระโปรง และรองเท้านักเรียนที่ยังอยู่ในสภาพดี แต่เล็กเกินไปสำหรับพี่ชายคนโต เราก็ส่งต่อให้น้องคนเล็กได้ หรือลูกของเพื่อนที่ทำงาน เชื่อเถอะว่าหากคุณเพียงเอ่ยปากลองถาม ถ้าเขามีก็คงยินดีจะยกให้ เพราะรู้ว่ามันมีประโยชน์มากกว่าจะพับทิ้งเอาไว้เฉย ๆ หรือถ้ามีคนเสนอจะยกให้เลย ก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ค่ะ

           เปิดเทอมใหม่ไม่เห็นจำเป็นว่าต้องโละของเก่าทิ้ง แม้ว่าจะมีโฆษณาหลายตัวชวนเชื่อว่าเปิดเทอมใหม่ก็ต้องมีเสื้อผ้าใหม่ รองเท้าใหม่ เพื่อจูงใจเด็กๆ ให้รบเร้าจะเอาของใหม่เอี่ยม แต่ในฐานะที่คุณเป็นผู้ปกครองต้องไม่หลงไปกับคำโฆษณาเหล่านี้นะ ถ้าของที่มียังอยู่ในสภาพดี และทนทานพร้อมถูกใช้งานต่อก็ไม่เห็นจำเป็นต้องซื้อใหม่ แค่นำมาซักทำความสะอาดดีๆ ก็ทำให้น่าใช้ได้แล้ว และควรสอนเด็กๆ ด้วยนะคะว่า ให้ใช้ข้าวของให้คุ้มค่า จะได้ปลูกฝังไม่ให้ลูกฟุ้งเฟ้อ เคยได้ยินกันไหม "เก่าของพี่ แต่ใหม่ของน้องนั่นละคะ

 

วิธีประหยัดในส่วนของค่าเรียนเสริมทักษะต่างๆ

              มาว่ากันต่อเรื่องที่จะช่วยประหยัดค่าเรียนเสริมต่างๆ กันต่อนะคะ ปัจจุบันพ่อแม่ผู้ปกครองนิยมส่งลูกหลานไปเรียนกวดวิชา หรือเรียนพิเศษ เพื่อเสริมทักษะความรู้ให้มากขึ้น เช่น เรียนเสริมทักษะด้านคณิตศาสตร์ ภาษา ดนตรี หรือกีฬา ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการเรียนพิเศษเหล่านี้ก็ต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อย ก่อนสมัครเรียนพิเศษ จึงควรให้ลูกหลานได้รู้ความต้องการของตัวเองก่อนว่า อยากเรียนอะไร เพื่อให้การเรียนพิเศษเกิดประโยชน์ต่อพวกเขาจริงๆ หรือสถาบันเรียนพิเศษบางแห่งให้นักเรียนสามารถทดลองเรียนได้ก่อน ซึ่งการทดลองเรียนจะช่วยให้ตัดสินใจได้ว่า ชอบแนวการสอนหรือไม่ หรือจะเลือกเรียนพิเศษด้านใด หรือบางอย่างถ้ายังไม่มีความจำเป็นจริงๆ ไม่ต้องทำตามแฟชั่น เช่น เรียนร้องเพลง เต้นรำ ถ้ายังไม่มีเหลือเงินไว้ให้เก็บขนาดนั้น ก็อย่าส่งเสริมหรือตามใจเด็กจนเกินไป

 

             ที่สำคัญก่อนถึงเวลาเปิดเทอมทุกครั้งผู้ปกครองจะมีเวลา 1-2 เดือน ในการวางแผนจัดสรรการเงิน มีผู้ปกครองบางรายที่ใช้วิธีทยอยสะสมเงินทุกๆเดือน พอถึงเวลาเปิดเทอมจึงไม่รู้สึกว่า กำลังแบกภาระหนักเอาไว้ เพราะได้เตรียมเงินเอาไว้พร้อมแล้ว สำหรับผู้ปกครองที่เป็นมนุษย์เงินเดือนนั้น อาจจะต้องแยกเงินเอาไว้เป็นสัดส่วนสะสมเอาไว้เรื่อยๆ เป็นไปได้ให้แยกการออมเอาไว้เฉพาะเลย โดยคำนวณวางแผนใช้จ่าย และกันเงินจำนวนนี้ไว้ให้พอเพียง จากนั้นค่อยเป็นเงินที่เหลือสำหรับตัวเอง และค่าใช้จ่ายในบ้าน วิธีนี้จะช่วยลดปัญหาทางการเงินของคุณได้ หากขาดไปบ้างก็ไม่กี่มากน้อย ยังพอหามาเติมได้ไม่ยากนัก ในพ่อแม่บางรายแทบไม่เจอกับภาวะขาดสภาพคล่องในช่วงเปิดเทอมเลยด้วยซ้ำ เราว่าง่ายๆแค่นี้ เราก็มีเงินเหลือเก็บ เอาไปทำอย่างอื่นให้ลูกได้อีกเยอะเลยนะคะ

 

 

Salakjit DD

IC