มีสลึง พึงทำงบ ให้ครบบาท

มีสลึง พึงทำงบ ให้ครบบาท

    เเค่เห็นคำว่า ‘งบ’ ซึ่งแน่นอนว่าก็คือ ‘งบการเงิน’ บนหัวเรื่องแล้ว อย่าเพิ่งถอดใจ skip บทความนี้กันไปก่อนนะคะ ถึงแม้ว่าตามปกติเราจะเพลียจิตมากมายชอบใช้งบแต่ไม่ชอบลงงบ แต่เชื่อเถอะค่ะว่าถ้าคุณอ่านบทความนี้จบแล้ว งบการเงินจะไม่ได้เป็นเรื่องน่าปวดหัวอีกต่อไป  ยังไงมาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่าค่ะ

Go Go Go !!

       สิ่งที่ผู้คนส่วนมากมักพบเจอคือ ตื่นตั้งแต่เช้าเพื่อไปทำงาน หาเงินใช้จ่ายไปเรื่อยๆ เเละสุดท้ายก็พบว่า ทำงานแทบตาย...แล้วเงินของฉันหายไปไหนหมด!!!

       ก่อนที่เพื่อนๆจะเครียดและหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เรามาทำตัวเป็นนักสืบค้นหาจุดรั่วซึมของเงินกันค่ะ เพราะถ้าเราทุกคนอยากมีแผนการเงินที่ดีนั้น...ควรตรวจสอบตัวเลขในบัญชีของตัวเองกันก่อนไปลุยกันเลยยย

 

งบการเงิน แบ่งเป็น 2 ประเภทจะขออธิบายอย่างง่ายเพื่อให้ทุกท่านเข้าใจและสามารถนำไปใช้ได้จริงนะคะ

 

1. งบดุล

คือ งบแสดงฐานะการเงินขณะใดขณะหนึ่ง ทำเพื่อวัดสถานะการเงินปัจจุบันของคุณว่าเป็นอย่างไร (คุณจะรุ่งหรือจะร่วง)

 

สินทรัพย์ assets  =  หนี้สิน (liabilities) + ความมั่งคั่งสุทธิ (net worth)
  • สินทรัพย์  =  สมบัติที่เราเป็นเจ้าของหรือที่เรามีอยู่ มีมูลค่าสามารถตีเป็นมูลค่าเป็นเงินสดได้
  • หนี้สิน      =  ภาระผูกพันทางการเงินที่ต้องชำระคืนในอนาคตไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต บ้าน รถ เเละอื่นๆ
  • ความมั่งคั่งสุทธิ = มูลค่าของสินทรัพย์ที่เหลือหลังจากการชำระคืนหนี้สินบ่งบอกถึงความมั่งคั่งที่แท้จริงของเรา

     

      เมื่อสำรวจสินทรัพย์ จะทำให้เรารู้ว่าสินทรัพย์ที่มีปัจจุบันมูลค่าเป็นอย่างไร ต่อไปเป็นการสำรวจหนี้สิน ซึ่งอาจจะทำให้คุณเครียดสักนิด จิตตกสักหน่อย เเต่ก็อย่าเพิ่งลมจับกันไปนะคะ เมื่อสำรวจทั้งสองอย่างเสร็จ เราก็นำสินทรัพย์ทั้งหมดลบกับหนี้สินทั้งหมด เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ คือ ความมั่งคั่งสุทธิหรือเรียกเเบบภาษาเข้าใจง่ายคือ "เงินเก็บสุทธิ" ของเรานั่นเอง

 

        เมื่อทุกคนอ่านและพอสำรวจตัวคุณเองมาถึงตรงนี้...คงจะพอรู้แล้วว่าคุณนั้นมีความพร้อมในเรื่องการเงินมากแค่ไหน? แต่ไม่ว่ายังไงขอให้เดินหน้าลุยกับการค้นหารอยรั่วของเงินเราต่อไปด้วยกันนะคะ

 

2. งบกระเเสเงินสด

ทำเพื่อรับรู้รายรับรายจ่ายที่แท้จริงของเราเอง ว่าที่ผ่านมานั้นเรามีเงินเหลือเก็บมากน้อยเพียงใด ใช้จ่ายมากกว่ารายได้หรือไม่ และคุณสามารถหารายได้เพิ่มขึ้น หรือลดค่าใช้จ่ายลงได้หรือไม่ เปรียบได้กับการบันทึกภาพจากกล้อง วีดีโอ โดยจะแสดงรายได้รายจ่ายที่เป็นเงินสดซึ่งเกิดขึ้นแล้วในอดีต ขออธิบายอย่างง่ายๆ

  • รายรับ เราจะเรียกว่า "กระแสเงินสดรับ (cash inflow)"
  • รายจ่าย เราจะเรียกว่า "กระแสเงินสดจ่าย (cash outflow)" 

 

กระแสเงินสดสุทธิ  =  กระแสเงินสดรับ - กระแสเงินสดจ่าย

ซึ่งผลลัพธ์เป็นได้ทั้งบวกและลบ

 

      ในที่สุดทุกคนก็พอที่จะเข้าใจการทำงบการเงินแบบง่ายๆ แล้วใช่มั้ยคะ ปรบมือรัวๆ ให้ตัวเองหน่อยค่ะ เห็นไหมล่ะคะ งบการเงินไม่ได้เป็นเรื่องน่าปวดหัว และก่อนจะจบบทความนี้ไป อยากบอกทุกคนว่า...

       ก่อนที่จะบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้ เราต้องรู้สถานะที่แท้จริงก่อนว่าเรามีเงินเก็บมากน้อยเพียงใด จึงจะทราบว่าเราใกล้เป้าหมายมากแค่ไหน และต้องทำอย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินค่ะ

 

       จากนี้...เก็บสลึง ไปทำ ‘งบ’ ให้ครบบาทด้วยกันนะคะ 


NATTIE DD
IC